top of page

เริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับเงินฉุกเฉิน


ช่วงเวลานี้มันเป็นการทดสอบว่า “เงินฉุกเฉิน” ที่เราเก็บไว้ 3 - 12 เดือนของค่าใช้จ่าย มันเพียงพอตามที่คิดไว้หรือไม่ บางครั้งเราคิดว่าตุนเงินไว้มากพอแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงกลับมีรายจ่ายที่ไม่คาดคิดเข้ามาซะงั้น ทำให้เงินฉุกเฉินหายเกลี้ยงในพริบตา  ถึงเวลานี้ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป เช่น หารายได้เพิ่ม ลดรายจ่าย ขายกองทุน หุ้นหรือขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะใช้เงินกู้ฉุกเฉิน

เรื่องที่ต้องรู้ก่อนกู้ฉุกเฉิน

หลายคนมองว่าเวลาเดือดร้อนที่ต้องใช้เงินเร่งด่วนจริงๆ เรายังมีวงเงินกู้เหลืออยู่ มีบัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดอีกหลายใบที่ใช้ได้ ทั้งหมดนี้เป็นการใช้เงินในอนาคต เป็นการสร้างหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก่อนจะตัดสินใจใช้เงินกู้ก็ต้องประเมินตัวเองว่าสามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยไหวหรือไม่ เพดานหนี้ของตัวเองว่าอยู่ระดับไหน  ดังนี้

  • เราควรมีหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ เพราะส่วนที่เหลืออีก 60% เป็นเงินออมและรายจ่ายส่วนตัว สมมติว่าเราได้รับเงินเดือน 30,000 บาท เพดานหนี้ของเราไม่ควรเกิน 12,000 บาท 

  • หนี้สินต่อทรัพย์สิน ไม่ควรเกิน 50%  มีวิธีการคำนวณ ดังนี้

    • นำหนี้สินที่เหลืออยู่ทั้งหมดมารวมกัน เช่น หนี้บ้านที่เหลือ กยศ. หนี้ผ่อนรถ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ฯลฯ 

    • นำทรัพย์สมบัติทั้งหมดของเรามารวมกัน  เช่น เงินฝาก บ้าน รถยนต์ กองทุนรวม หุ้น ที่ดิน มูลค่าเงินสดในประกัน ฯลฯ 

    • นำหนี้สินหารทรัพย์สินแล้วคูณ 100 


มันเหมือนการออกกำลังกายที่เรารู้ว่าจุดไหนที่เรียกว่าเหนื่อย หายใจไม่ทัน นั่นแสดงว่าเราจะต้องหยุด เพื่อให้ร่างกายได้พักเหนื่อย การรู้เพดานหนี้สินของตัวเองก็เช่นกัน ทำให้ประมาณได้ว่าควรใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลหรือกู้ยืมอื่นๆได้อีกเท่าไหร่ ถ้ามีมากเกินไปก็ต้องพักบ้างเพื่อไม่สร้างภาระหนักให้ตัวเองมากเกินไปนะคะ 

เมื่อวันหนึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านไป เงินฉุกเฉินทำให้เราฝ่าวิกฤตช่วงนี้ไปได้ เรากลับไปทำงานเหมือนเดิมหรือเริ่มต้นกับงานใหม่ มีรายได้กลับเข้ามาอีกครั้ง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เติมเงินฉุกเฉินให้เต็มเป็นอันดับแรก จากวิกฤตครั้งนี้ทำให้รู้แล้วว่าตอนนี้เราควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ

การแบ่งเก็บเงินฉุกเฉิน

สมมติว่าเราเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 6 เดือนของค่าใช้จ่าย เช่น มีรายจ่ายเดือนละ 10,000 บาท ควรมีเงินฉุกเฉิน 60,000 บาท อาจจะแบ่งเก็บไว้ 2 บัญชี เช่น


=> บัญชีที่ 1 เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง  ถอนใช้ได้ทันที 30,000 บาท

=> บัญชีที่ 2 กองทุนรวมตลาดเงิน มีระยะเวลาถอน 1 วัน 30,000 บาท 


ทั้งสองบัญชีนี้มีสภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ สามารถรักษาเงินต้นของเราไว้ได้ ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินควรใช้บัญชีที่ 1 ให้หมดก่อน หากไม่พอค่อยใช้บัญชีที่ 2 เรื่องจำนวนเงินที่เก็บแต่ละบัญชีควรปรับให้เหมาะสมกับตัวเองนะจ๊ะ อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างจ้า ส่วนช่วงที่เติมเงินฉุกเฉินให้เต็มอาจจะแบ่งเก็บทีละบัญชีที่บัญชีที่ 1 และ 2 ตามลำดับหรือว่าจะเก็บพร้อมกันทั้ง 2 บัญชีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนนะคะ


ช่วงเวลาวิกฤต “เงินเก็บ” หาได้เร็วกว่า “เงินกู้” ที่ต้องรอคิวนานแล้วยังได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินอีกด้วย อ่านบทความนี้จบแล้วเริ่มคำนวณว่าเราควรมีเงินฉุกเฉินเท่าไหร่ แล้วออมเงินทันที สิ่งที่คิดไว้ถึงจะเป็นจริงนะคะ 



ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page