top of page

อัตรากำไรขั้นต้น... เรื่องที่คนลงทุนต้องรู้!


อัตรากำไรขั้นต้น... เรื่องที่คนลงทุนต้องรู้!

ปรกติอ่านงบการเงินกันไหม?

งบการเงินนี่ถือเป็นหัวใจของการวิเคราะห์กิจการด้วยปัจจัยพื้นฐานเลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าการวิเคราะห์งบการเงินมีหลายแขนงด้วยกัน แต่แขนงหนึ่งที่นิยมบ้างคือการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอัตราส่วนทางการเงินที่ชื่อว่า “อัตรากำไรขั้นต้น” กัน

อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin (GPM) ถือเป็นอัตราส่วนทางการเงินตัวหนึ่งที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์กิจการมาก โดยเฉพาะในแง่ของการทำกำไร เรียกว่าไม่ดูไม่ได้เลย

ก่อนอื่นมารู้จักกำไรขั้นต้นกันก่อน

กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) คือ ยอดขาย (Sales) ลบด้วยต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold) เช่น กิจการค้าปลีกหนึ่งมีซื้อสินค้ามา 600,000 บาท ขายสินค้าออกไปทั้งหมดได้ยอดขาย 1,000,000 บาท แบบนี้แปลว่ากิจการมีกำไรขั้นต้น 400,000 บาทนั่นเอง

กำไรขั้นต้นบอกถึงกำไรที่ได้มาจากการขายสินค้าหรือบริการโดยตรง ซึ่งยังไม่หักต้นทุนด้านการขายและการบริหารอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือส่วนต่างจากราคาซื้อและราคาขายนั่นเอง โดยทั่วไปกิจการควรจะมีกำไรขั้นต้นเป็นบวก หรือขายของอย่างมีกำไร ถ้ากิจการขาดทุนตั้งแต่กำไรขั้นต้นอาจหมายถึงว่ากิจการไม่มีความสามารถในการตั้งราคาสินค้าอยู่เลย หรือต้นทุนสินค้าแพงเกินไปหรือผันผวนก็เป็นได้

ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น คือ กำไรขั้นต้นหารด้วยยอดขาย (หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์) เช่น จากตัวอย่างเมื่อสักครู่นี้ กิจการมีกำไรขั้นต้น 400,000 บาท และมียอดขาย 1,000,000 บาท กิจการนี้จึงมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 40% (400,000 x 100/1,000,000) 

โดยปรกติอัตรากำไรขั้นต้นจะใช้ในการวิเคราะห์ได้ดีกว่ากำไรขั้นต้น เนื่องจากกำไรขั้นต้นมีค่ามากหรือน้อยผันแปรไปตามยอดขาย แต่อัตรากำไรขั้นต้นนั้นตัดปัญหาเรื่องยอดขายออกไปแล้ว ค่าที่ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์จึงสามารถเปรียบเทียบได้กว้างขวางกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกิจการที่ขนาดแตกต่างกัน

อัตรากำไรขั้นต้น บอกถึงอะไร?

อัตรากำไรขั้นต้นบอกถึงความสามารถในการตั้งราคาสินค้า รวมไปถึงจัดหาสินค้าในราคาที่เหมาะสม กิจการที่ดีต้องมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นหรือคงที่ ซึ่งบ่งบอกว่าในระยะยาว กิจการสามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ตามต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น (ขึ้นราคาได้จึงสามารถรักษาส่วนต่างกำไรไว้ได้) แน่นอนว่ากิจการที่สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้ในระยะยาวนั้นย่อมเป็นกิจการที่แข็งแกร่งและควรค่าแก่การลงทุน

กิจการที่อัตรากำไรขั้นต้นไม่คงที่นั้นแสดงถึงการไม่สามารถควบคุมราคาขายและราคาต้นทุนสินค้าได้ ยกตัวอย่างเช่น กิจการที่จำหน่ายสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเหล็ก น้ำมัน ปิโตรเคมี ยางมะตอย หรือบริการขนส่งสินค้าทางเรือ หากช่วงไหนต้นทุนลดราคาขายเพิ่ม อัตรากำไรขั้นต้นก็จะสูงขึ้นมาก ในขณะที่หากช่วงไหนต้นทุนเพิ่มราคาขายลด อัตรากำไรขั้นต้นก็จะลดลงมากเช่นกัน

กิจการที่ควบคุมอัตรากำไรขั้นต้นไม่ได้เหมาะกับการลงทุนแบบโมเมนตัมหรือจับจังหวะมากกว่า เนื่องจากในระยะยาวนั้น กิจการแบบนี้มักมีความผันผวนและคาดการณ์สถานการณ์ของธุรกิจได้ยาก ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของกิจการอาจไม่เพิ่มขึ้นในระยะยาว

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ นักลงทุนควรเทียบ GPM ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น

หากเปรียบเทียบร้านสะดวกซื้อควรเปรียบเทียบกับร้านสะดวกซื้อ เปรียบเทียบธุรกิจโรงแรมก็ควรเปรียบเทียบกับธุรกิจโรงแรม เนื่องจากแต่ละธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมนั้นมีลักษณะโครงสร้างรายได้และการทำกำไรที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบผิดประเภทอาจนำมาซึ่งการวิเคราะห์ผิดไปอย่างมีนัยสำคัญได้


นักลงทุนหลายคนมาตกม้าตายตรงนี้

อย่างธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั่วไปโดยปรกติจะมีอัตรากำไรขั้นต้น 40% บวกลบ แต่ถ้าเป็นค้าปลีกเครื่องสำอางอาจสูงขึ้นได้ถึง 70% แต่ถ้าเป็นค้าปลีกน้ำมันอาจตกลงมาอยู่ที่ 10% บวกลบเท่านั้น


ดังนั้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องเข้าใจธุรกิจที่กำลังวิเคราะห์อย่างมาก เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจว่าตัวเลขทางการเงินที่กำลังสะท้อนออกมานั้นมากหรือน้อยอย่างมีเหตุผลหรือไม่อย่างไร 

กิจการโดยทั่วไปแล้วควรมี GPM มากกว่า 30% ขึ้นไป (หลักการส่วนตัวของลงทุนศาสตร์) เนื่องจากกำไรขั้นต้นที่น้อยเกินไปอาจไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ โดยสำคัญคือ GPM ไม่จำเป็นต้องมากขึ้นในทุกปี แต่ขอให้มีความสม่ำเสมอเป็นสำคัญมากกว่า 

ยิ่ง GPM มากก็ยิ่งดี แต่นักลงทุนต้องคิดเสมอว่าเพราะอะไรลูกค้าจึงยอมจ่ายราคาแพงเพื่อซื้อสินค้าขนาดนั้น อย่างธุรกิจเครื่องสำอางนั้นเป็นที่รู้กันว่าเป็นธุรกิจที่ขายความหวังขายความพรีเมี่ยม ดังนั้น ราคากลางของสภาพธุรกิจจึงสูงเป็นธรรมชาติ แล้วมักจะมาห้ำหั่นกันที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์แทน

หรืออย่างเช่นกิจการท่าอากาศยานนั้น มักจะมีความสามารถในการตั้งราคาสูงมาก เนื่องจากมักได้รับประโยชน์จากระบบสัมปทานที่ค่อนข้างผูกขาดจากการมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับต้นทุนต่ำบางอย่างจากรัฐ เช่น การได้ค่าเช่าที่ดินราคาถูก นั้นยิ่งทำให้ GPM ของกิจการสูงขึ้นไปอีก

สิ่งสำคัญคือนักลงทุนต้องมองหาเหตุผลในตัวเลขงบการเงินเสมอ อัตรากำไรที่มากนั้นดี แต่มากเกินไปบางทีก็จะชักนำคู่แข่งจำนวนมากเข้ามาแย่งเค้กกันในธุรกิจได้


สิ่งสำคัญคือนักลงทุนต้องมองหาเหตุผลในตัวเลขงบการเงินเสมอ อัตรากำไรที่มากนั้นดี แต่มากเกินไปบางทีก็จะชักนำคู่แข่งจำนวนมากเข้ามาแย่งเค้กกันในธุรกิจได้ อย่าลืม!! วิเคราะห์ธุรกิจให้มองหาอัตรากำไรขั้นต้นเสมอ พร้อมตั้งคำถามในใจว่า GPM ของกิจการเหมาะสมกับสภาพธุรกิจและอุตสาหกรรมไหม ค่ามันมากเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า เหตุผลอะไรที่ทำให้ค่ามันเป็นอย่างนั้น และที่สำคัญที่สุดคือ แนวโน้มในอนาคตของมันจะเป็นอย่างไรต่อไป

คิดให้รอบคอบไว้ เพราะไม่ได้ขึ้นรถนั้นดีกว่าติดดอย

ดู 18 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page