“ยังไม่ทันฟื้นจากไข้เศรษฐกิจสงครามการค้าโลก ก็ดันมาติดไข้ไวรัสโคโรนาอีก” นี่คือสิ่งที่แอดมินคิดสำหรับ “เศรษฐกิจ” ไทยในช่วงต้นปี 2563 นี้ เพราะที่ผ่านมาเราคิดว่าสงครามการค้าโลก (Trade War) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “เศรษฐกิจ” ไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร และเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายสำนัก เช่น ธนาคารโลก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ฯลฯ ให้ความเห็นว่าสถานการณ์ในปี 2563 “เศรษฐกิจ” จะฟื้นตัวจากสงครามการค้าแล้ว แต่พอมาต้นปี 2563 เราดันต้องมาเจอกับปัญหาวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
แนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับ “ภาคต่างประเทศ” และ “ภาคเกษตรอย่างมาก”
ก่อนอื่นแอดมินว่าเราต้องทำความเข้าใจกลไกพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจก่อน ว่าการที่เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนได้เนี้ยต้องประกอบไปด้วยฟันเฟืองอะไรบ้าง แต่ละฟันเฟืองมีบทบาทและความสำคัญอย่างไร เพราะประเทศหนึ่งประกอบไปด้วยบริษัทจำนวนมหาศาลที่มีลักษณะธุรกิจและกลยุทธ์การทำธุรกิจที่แตกต่างกัน เมื่อเราจะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจ ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าการเติบโตมาจากฟันเฟืองตัวใดของระบบเศรษฐกิจ โดยระบบเศรษฐกิจพื้นฐานประกอบไปด้วย
5 ฟันเฟืองสำคัญ คือ
1. ภาคครัวเรือน 2. ภาคธุรกิจ 3. ภาคสถาบันการเงิน 4. ภาครัฐบาล และ 5. ภาคต่างประเทศ
โดยแต่ละภาคส่วนจะทำธุรกรรมทาง “เศรษฐกิจ” ซึ่งกันและกัน เช่น ภาคครัวเรือนซื้อสินค้าจากภาคธุรกิจ และภาคธุรกิจเองก็ซื้อแรงงานจากภาคครัวเรือน ภาครัฐบาลเก็บภาษีจากภาคธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมธุรกิจผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีรูปแบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่นในปี 2561 รายจ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา ไทย และจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68 49 และ 39 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตามลำดับ ส่วนรายจ่ายเพื่อการนำเข้าส่งออกของสหรัฐอเมริกา ไทย และจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 123 และ 39 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตามลำดับ พี่ทุยสะดุดตาตรงตัวเลขสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการนำเข้าส่งออกของประเทศไทยที่สูงถึงร้อยละ 123 ของ GDP
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นลักษณะสำคัญของประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่พึ่งพา “ภาคต่างประเทศ” เป็นหลัก กล่าวคือถ้าหากเศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจไทยก็จะถดถอยตามไปด้วย หรือในทางกลับกันถ้าหากเศรษฐกิจโลกคึกคัก เศรษฐกิจไทยก็จะคึกคักตามไปด้วย
นอกจากนี้หากพิจารณาระบบเศรษฐกิจโดยจำแนกตามประเภทการผลิตที่ต่างกัน คือภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ถ้าเราลองไปดูลึก ๆ จะเห็นว่ามูลค่าภาคเกษตรในประเทศไทยมีสัดส่วนร้อยละ 8.2 ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 0.9) และจีน (ร้อยละ 7.9) ในขณะที่ประเทศจีนมีสัดส่วนมูลค่าภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด (ร้อยละ 40.5) และสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนมูลค่าภาคบริการมากที่สุด (ร้อยละ 80)
จากข้อมูลทั้งหมดที่พูดถึงมาเนี้ย พี่ทุยว่าเราสามารถสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีลักษณะพึ่งพาภาคต่างประเทศ อีกทั้งภาคเกษตรก็เป็นภาคการผลิตที่สำคัญเพราะมีการจ้างงานมากที่สุด แม้ว่าสัดส่วนมูลค่าต่อ GDP จะไม่สูงมากก็ตาม ดังนั้นเหตุการณ์อะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อ “ภาคต่างประเทศ” และ “ภาคการเกษตร” ก็จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 เช่นกัน
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ?
จากการรวบรวมข้อมูลการพยากรณ์จากแหล่งต่าง ๆ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารโลก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศ เราจะเจอว่ามีการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2563 อยู่ระหว่างร้อยละ 2.1 ถึงร้อยละ 3.7 โดยแหล่งข้อมูลที่ให้อัตราการเติบโตสูงที่สุดคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยให้ความเห็นว่าการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงสงครามการค้าโลกมีแนวโน้มดีขึ้น นั่นคือการส่งออกไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 นอกจากนี้ทิศทางปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนแหล่งข้อมูลที่ให้อัตราการเติบโตต่ำที่สุดคือ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบของสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออก และปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 แอดมินเลยรวบรวมข้อมูลสำคัญ ๆ ของการคาดการณ์จากแหล่งต่าง ๆ ไว้ในตารางด้านล่างตามนี้
หมายเหตุ : วันที่หลังตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP คือวันที่ประกาศตัวเลขดังกล่าวของแต่ละสถาบัน
แอดมินสังเกตเห็นได้ว่าสถาบันพยากรณ์เศรษฐกิจชั้นนำทุกแห่งล้วนให้ความสำคัญกับ “ภาคต่างประเทศ” และ “ภาคเกษตร” ของไทย เพราะว่าปัจจัยสำคัญในการพยากรณ์การประมาณการ GDP Growth ในปี 2563 ล้วนเกี่ยวข้องกับ 2 ภาคส่วนนี้ ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2563 ปัจจัยที่ทำให้ภาคต่างประเทศของไทยเติบโตได้ช้า คือ
(1) ผลกระทบต่อเนื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ฯ (2) สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และปัจจัยที่ทำให้ภาคเกษตรของไทยประสบปัญหาคือปัญหาภัยแล้ง
ซึ่งถ้ายังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ รวมถึงปัญหาภัยแล้งไทยก็เป็นเรื่องยากอย่างมากที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้แบบช่วงที่ผ่านมา
Comments