top of page

ปรากฏการณ์ New normal สิ่งที่คาดว่าจะได้เห็นหลัง “โควิด”-19 จบลง



ในตอนนี้ที่เกิดวิกฤต “โควิด”-19 คงต้องยอมรับว่าชีวิตประจำวันเราได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชีวิตคนกรุงเทพฯ ต้องเรียกว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยจริง ๆ อย่างทุกวันนี้เวลาแอดมินขับรถไปซื้อของแต่ละที รถนี่โล่งอย่างกับวันอาทิตย์ตอนเช้า แต่พอไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้นแหละ รถแน่นเชียว ร้านประจำที่เคยไปนั่งกิน ก็นั่งกินไม่ได้ทำได้แค่สั่งกลับบ้าน ฟิตเนสที่เคยไปออกกำลังกายก็ปิดหมด จนในตอนนี้หลายคนเริ่มบ่น เริ่มเบื่อ เริ่มทนไม่ไหวกันแล้ว


บางครั้งพี่ทุยก็ถามตัวเองเหมือนกันว่า เมื่อไหร่จะจบสักที เมื่อไหร่ “โควิด”-19 นี้จะหายไป เมื่อไหร่เราจะกลับเป็นปกติ ? แอดมินคิดเหมือนกันนะว่าหลังจากนี้ หลาย ๆ อย่างที่เราคุ้นเคยอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีแนวโน้มหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป เพราะจากที่แอดมินอ่านบทวิเคราะห์ทั้งของไทยและต่างประเทศค่อนข้างเยอะช่วงนี้ ก็จะเห็นมุมมองที่แตกต่างออกไปเยอะเหมือนกัน วันนี้แอดมินจะมาเล่าให้ฟังว่าอนาคตมีแนวโน้มของปรากฎการณ์ “New Normal” จะเป็นยังไงบ้าง เผื่อว่าเราจะได้วางแผนการใช้ชีวิตและการลงทุนในอนาคตได้


ธุรกิจจะทำ Deglobalization แทนที่การทำ Globalization

อย่างแรกเลยมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการค้าการลงทุนของโลกเรามันจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้ทั้งทางทฤษฎีและในโลกจริงต่างบอกว่า ประเทศต่าง ๆ ในโลกควรจะทำการค้ากัน แบ่งกันผลิต ใครถนัดอะไรก็ไปผลิตอันนั้นซะ จะได้มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแค่สินค้าเท่านั้นนะ แต่รวมถึงปัจจัยการผลิตด้วยทั้งแรงงานและวัตถุดิบ เรียกว่าที่ไหนมีแรงงานถูก ที่ไหนของถูกก็ย้ายไปผลิตที่นั่นเลย อย่างในปัจจุบันจะเห็นว่าของชิ้นนึงมีที่มาจากหลายประเทศมาก ๆ อย่างเช่นมือถือเครื่องนึง อาจประกอบในจีน แต่นำเข้าวัตถุดิบจากหลายที่เลย อย่างแผงวงจรบางอันก็ผลิตในไทยและส่งออกจากไทยเนี่ยแหละ หรือจอสัมผัสนำเข้าจากเกาหลีใต้ ซึ่งกระบวนการแบบนี้ภาษาสวย ๆ เรียกว่าห่วงโซ่การผลิตอุปทานโลก หรือ Global Supply Chain นั่นเอง


แต่พอมีเรื่อง โควิด-19 ระบาดเกิดขึ้น มีการปิดประเทศ โรงงานผลิตต่าง ๆ ก็เริ่มไม่ค่อยแน่ใจกับวิธีการแบบกระจายการผลิต อย่างช่วงแรก ๆ นี่ยิ่งชัดเจนเลยในตอนที่จีนปิดประเทศอยู่ประเทศเดียวแต่การผลิตในหลาย ๆ ประเทศกลับต้องหยุดไปด้วย หรืออย่างในตอนนี้ที่หลายประเทศเริ่มปิดการส่งออก ทำให้วัตถุดิบหลายอย่างเริ่มขาดแคลน พอมันเป็นแบบนี้หลังจากนี้พี่ทุยคิดว่าบริษัทต่าง ๆ น่าจะทำ Global supply chain ลดลงอย่างแน่นอน ยิ่งเอาไปไว้ไกลตัวมันยิ่งเสี่ยง บริษัทต่าง ๆ น่าจะกลับมาเน้นที่ตัวเองมากขึ้นและเริ่มกลับมาใช้การผลิตแค่ในประเทศกันมากขึ้นแน่ ๆ หรือที่เรียกว่า Deglobalization


Work from home และ Learn from home จะกลายเป็นเรื่องปกติ

อีกเรื่องที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนแน่ ๆ ก็คือรูปแบบการทำธุรกิจและการเรียนการศึกษา จะเห็นได้ว่า ไวรัสในครั้งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นเลยที่ทำให้บริษัทและมหาวิทยาลัยหลายที่ พัฒนาและวางระบบ digital กันอย่างจริงจัง หลายมหาวิทยาลัยเริ่มสอนแบบออนไลน์ หลายบริษัทประชุมสั่งงานกันผ่านทางออนไลน์ ซึ่งพี่ทุยเชื่อเลยว่าหลังจากไวรัสหมดไป เขาคงไม่ทิ้งระบบที่ลงทุนไปอย่างแน่นอน ยังไงก็ต้องเอามาใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ หรืออาจจะพอสรุปได้ว่าการเจอหน้ากันอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว

เมื่อก่อนเราอาจจะได้ยินคำว่า Digital transformation แล้วทุกองค์กรอยากทำกันมาก ๆ แต่ก็มักจะ เดี๋ยวก่อน ไว้ก่อน เพราะยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ทีนี้พอ โควิด-19 มา เรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนขึ้นมาทันที จนทำให้เป็นมุมตลกในวงการไอทีเลยก็ว่าได้ สิ่งที่ทำให้เกิด Digital transformation ในองค์กรไม่ใช่ทั้ง CEO หรือ CTO แต่เป็น โควิด-19 ต่างหาก ฮ่า ๆ

แล้วถ้าเป็นแบบนี้ พี่ทุยว่ากลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่พัฒนาระบบ Digital นั้นแหละ ทั้งในเรื่องของ Hardware และ Software เลย โปรแกรมที่จะมาช่วยรองรับให้ทำงานแบบออนไลน์กันสะดวก หรืออุปกรณ์ที่มีความรวดเร็วในการเชื่อมต่อ หรือกลุ่มที่อยู่ในโลกออนไลน์อยู่แล้ว เช่นพวก E-commerce เรียกว่าช่วงนี้อาจจะเป็นช่วงกอบโกยของเขาเลยแหละ แต่เมื่อมีคนได้ประโยชน์ก็น่าจะต้องมีคนเสียประโยชน์เช่นกัน ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การเดินทางสำหรับธุรกิจอาจจะลดลง ทั้งจากเรื่อง Supply chain ที่บอกไป และจากการที่ไม่จำเป็นต้องบินมาเจรจาหรือบินไปเรียนอีกแล้ว น่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มสายการบินและโรงแรม ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ของ 2 กลุ่มนี้อย่างแน่นอน เรามารอดูกันว่าจะออกมาในรูปแบบไหน


เราอาจจะได้เห็นการลงทุนด้านสาธารณสุขเพิ่มเติมทั่วโลก

สิ่งที่แอดมินว่าหลังจากนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ก็คือเรื่องของสาธารณสุข อย่างก่อนหน้านี้พี่ทุยเชื่อมาก ๆ เลยว่ามีน้อยคนนักที่จะล้างมือด้วยเจลตลอดเวลา เปลี่ยนชุดทันทีที่กลับบ้าน แต่ตอนนี้พี่ทุยเชื่อว่าคนเริ่มที่จะเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่มือเราสัมผัส จริง ๆ มีเชื้อโรคมากขนาดไหน ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องความสะอาดกันมากขึ้น ร้านอาหารหันมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อสวมถุงมือในการปรุงอาหาร หากมองกันให้กว้างขึ้นเราจะเห็นว่าตอนนี้ระบบสาธารณสุขของบ้านเรายังไม่พร้อมอย่างรุนแรง แค่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ยังไม่พอเลย ไม่ต้องพูดถึงทั่วประเทศหรอก ขาดแคลนทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์


หลังจากนี้พี่ทุยเชื่อว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต้องเน้นไปที่ระบบสาธารณสุขก่อนเลย ไม่ว่าจะมาจากความตั้งใจหรือการถูกเรียกร้องจากสังคม แต่ต้องมีการสร้างหรือการขยายโรงพยาบาลเพิ่มอย่างแน่นอน รวมถึงเน้นการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน การเรียนแพทย์น่าจะกลับไปเป็นที่นิยมมาก ๆ อีกครั้ง (ก่อนหน้านี้ก็นิยมแหละนะแต่ช่วงหลังกระแส start up มาแรงมากจริง ๆ)

โดยสรุปแล้ว พี่ทุยคิดว่าคำถามที่สำคัญกว่าในช่วงนี้ที่ว่าเมื่อไหร่เราจะกลับมาเป็นปกติ ก็คือ หลังจากนี้อะไรคือความปกติมากกว่า ซึ่งแอดมินคิดว่าต่อไปการค้าการลงทุนของโลกย่อมต้องเปลี่ยนไป แต่ละประเทศจะเน้นการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นทำให้ การค้าการลงทุนข้ามชาติมีแนวโน้มน้อยลง รวมถึงการทำธุรกิจและการศึกษาด้วยการเจอหน้ากันไม่จำเป็นอีกต่อไป เน้นเรียนหรือประชุมออนไลน์เอา ซึ่งระบบต่าง ๆ ช่วงนี้ได้ถูกเริ่มใช้แล้ว สำหรับประเทศไทยระบบสาธารณสุขต้องถูกเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันไม่พออย่างชัดเจน ดังนั้นกลุ่มธุรกิจ Digital และสาธารณสุขน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจของกลุ่มโรงแรมและสายการบินอย่างแน่นอน


สุดท้ายแอดมินคิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่อาจไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจอะไรมากมายนักแต่พี่ทุยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะเก็บรักษาไว้ก็คือเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคม การตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันอาจส่งผลต่อคนอื่นในสังคม เช่นการอยู่บ้านกักตัว แอดมินคิดว่าสิ่งนี้มันช่วยให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้นอีกเยอะเลย หากเราช่วยกันเราจะทำให้สังคมมันดีได้อย่างแน่นอน

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page