top of page

ทำไม “ดอลลาร์สหรัฐ” ถึงเป็นสกุลเงินหลักของโลก ?


ทุกคนน่าจะพอทราบกันดีอยู่แล้วว่า US Dollars หรือ “ดอลลาร์สหรัฐ” เป็นสกุลเงินหลักของโลกมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นอิทธิพลของ US Dollars ต่อตลาดการเงินโลก อาจจะมากเกินกว่าที่เราจะจินตนาการออกเสียด้วยซ้ำ

เงินทุนสำรองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน จัดเก็บอยู่ในสกุล “ดอลลาร์สหรัฐ” ถึงประมาณ 61% ขณะเดียวกัน 1 ใน 3 ของ GDP โลก ก็มาจากประเทศที่ผูกค่าเงินของตัวเองกับ US Dollars เอาไว้ หรือแม้แต่ตลาด Forex Trading ที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่งก็มีความเกี่ยวพันกับ US Dollars เช่นกัน


เดิมที US Dollars ไม่ได้ครองโลกอย่างเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของมันเกิดขึ้นในปี 1944 ณ เมือง Bretton Woods รัฐ New Hampshire ซึ่งเป็นที่มาของ Bretton Woods Agreement ซึ่งเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว โดยกำหนดให้ 1 ออนซ์ทองคำ เท่ากับ 35 US Dollars

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้หลายประเทศทั่วโลกสามารถที่จะนำค่าเงินของตัวเองมาผูกกับ “ดอลลาร์สหรัฐ” แทนที่จะผูกกับทองคำแบบในอดีต เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม 35 US Dollars ก็จะเท่ากับทองคำ 1 ออนซ์ อยู่ดี และทำให้เงิน US Dollars มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นไปทั่วโลก แต่หลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้เข้าร่วมในสงครามหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ทำให้ประเทศจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้น จนต้องตัดสินใจพิมพ์เงินออกมาเพิ่มโดยที่ไม่ได้มีทองคำสำรองมากขึ้นแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนั้นค่าเงิน US Dollars ก็อ่อนค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เมื่อเงินที่มีอ่อนค่าลงอย่างหนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะยากลำบาก ข้าวของแพง คนว่างงานก็เพิ่มขึ้น และทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง จนระบบ Bretton Woods ที่ใช้กันมาก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว ในที่สุดสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี Richard Nixon ก็ได้ประกาศว่าจะยุติการผูกเงิน US Dollars กับทองคำ และหาทางทำให้เงิน US Dollars กลับมาเป็นที่ต้องการกันอีกครั้ง ผ่านระบบที่ชื่อว่า Petrodollar


ในปี 1973 สหรัฐฯ ได้ตกลงกับซาอุดีอาระเบีย โดยขอให้ทางซาอุฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ขายน้ำมันในสกุล US Dollars เท่านั้น แลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนด้านความมั่นคงทางการทหารให้กับประเทศผู้ค้าน้ำมันเหล่านั้น เมื่อข้อตกลงนี้เกิดขึ้น เท่ากับว่าทุกประเทศที่ต้องการซื้อน้ำมันดิบจำเป็นจะต้องนำเงินสกุลของตัวเองไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ฯ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องค้าขายกับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้เงิน US Dollars มาครอบครอง และนั่นเองจึงเป็นที่มาที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ฯ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ตราบที่น้ำมันยังคงเป็นที่ต้องการของทั่วโลก


ข้ามมาในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเงิน US Dollars เผชิญกับความเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากหนีสิ้นของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันพุ่งขึ้นไปสูงเกือบ 23 ล้านล้านดอลลาร์ มากเสียจนขนาดที่ว่ารายได้ของทั้งประเทศก็ยังไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันน้ำมันซึ่งเป็นสิ่งที่เคยมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ก็ค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยพลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น

และอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญของ US Dollars คือการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ท้าชิงรายใหญ่อย่างสกุลเงิน Yuan ของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ไม่แพ้สหรัฐฯ เลยในขณะนี้

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page