ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนที่ติดตามข่าวสารน่าจะพอมองเห็นเค้าลางความไม่แน่นอนเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะดิ่งลงจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยฝุ่น PM 2.5 ที่ก็ยังมีการจัดการที่ไม่ค่อยดีนัก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าจากจีนที่ส่งผลกระทบการท่องเที่ยวไทยจนแทบล้มวูบ เพราะสูญเสียรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีน ลามไปถึงธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศที่ก็แย่ตามไปเหมือนกัน แม้กระทั่งล่าสุดเอง อย่างข่าวที่ “Chevrolet” แบรนด์รถชื่อดังที่ประกาศปิดตัวโรงงานในไทย ก็น่าจะเป็นสัญญาณเตือนชนชั้นกลางอย่างเราๆ ได้ดี รวมไปถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นตก และพิษจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เห็นสัญญาณเตือนแบบนี้แล้ว แอดมินเชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนที่เป็นชนชั้นกลางอย่างๆ เราอาจจะคิดว่า งั้นก็เก็บเงินไว้เยอะๆ จะได้อยู่รอดได้ในภาวะแบบนี้ใช่มั้ยครับ ขอบอกเลยว่าการเก็บเงินหรือกอดเงินเอาไว้อย่างเดียวไม่ใช่ทางออกในภาวะเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ครับ แต่ทางออกที่จะทำให้เราอยู่รอดได้นั้น คือ “เราทุกคนต้องมีความรู้ทางด้านการเงินการลงทุน และที่สำคัญต้องวางแผนการเงินให้ตัวเองได้ครับ”
"วางแผนการเงิน" ฟังดูยาก ถ้าไม่รู้เริ่มต้นไง อย่างแรกเพื่อนๆ ควรรู้ก่อนว่าการวางแผนการเงิน คือ อะไร...
✍ "การวางแผนการการเงิน" คือ แนวคิดที่ทำให้เราเตรียมความพร้อม เพื่อชีวิตที่มีความมั่นคงทางการเงินครับ ต้องรู้จักการจัดสรรและวางแผนการใช้จ่าย รวมไปถึงเก็บออมและลงทุน เพื่อให้เรามีเงินใช้ยาวถึงบั้นปลายชีวิต โดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนหยิบยืมใครครับ โดยวิธีวางแผนการเงินง่ายๆ นั้นมีเพียงแค่ 5 ขั้นตอนครับ
✍ ขั้นตอนที่ 1 เช็คฐานะการเงินตัวเองก่อนเลยครับ
โดยดูจากตัวเลขสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เพื่อนๆ มี ว่าตอนนี้ “มีเงิน หรือ หนี้ท่วม” ด้วยสูตร “ความมั่งคั่งสุทธิ = ทรัพย์สิน - หนี้สิน” ถ้าผลออกมาว่า มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน อย่างแรก รีบเคลียร์หนี้ให้หมดก่อนเลยครับ
หรือจะใช้อีกสูตรก็ได้ครับ
“อัตราส่วนความอยู่รอด = รายได้จากการทำงาน + รายได้จากทรัพย์สิน / รายจ่าย”
ยกตัวอย่างนะ สมมติบก.aomMONEY เงินเดือน 20,000 บาท ไม่มีรายได้จากทรัพย์สินอะไรเลย ไม่มีหุ้น ไม่มีกองทุนอะไรทั้งสิ้น และมีรายจ่ายต่อเดือนเดือนละ 15,000 เพราะฉะนั้นอัตราส่วนความอยู่รอดของบก.อยู่ที่ 1.34 ครับ ซึ่งกรณีนี้ถ้าผลลัพธ์ออกมามากกว่า 1 ก็คือว่าอยู่รอดได้ครับ แต่ตัวอย่างของบก.ก็เฉียดฉิวมากนะครับ แต่ถ้าคำนวณแล้วต่ำกว่า 1 ก็แสดงว่ารายจ่ายมากกว่ารายได้ หนี้ถามหาแน่นอน ไม่รอดครับ
ถ้าคำนวณแล้วอัตราส่วนความอยู่รอด รอดจริง แต่อยากรู้ว่าตัวเองรวยหรือมีอิสรภาพทางการเงินหรือยัง...วัดยังไง?
แอดมินบอกเลยสูตรมันง่ายมากครับ
“อัตราส่วนความมั่งคั่ง = รายได้จากสินทรัพย์ / รายจ่าย”
ถ้าผลลัพธ์มากกว่า 1 แสดงว่ามีอิสรภาพทางการเงินแล้วครับ ตัวอย่าง บก. ได้ดอกเบี้ยเงินฝากจาก 2,000 บาท/เดือน มีคอนโดปล่อยเช่าอีกหลายที่รวมๆ รายได้ต่อเดือนตก 38,000 บาทต่อเดือน รวมรายได้จากทรัพย์สินทั้งหมด 40,000 บาท ถ้านำมาหารรายจ่ายต่อเดือนของบก. คือ 15000 บาท/เดือน
เมื่อคำนวณอัตราส่วนความมั่งคั่งจะเท่ากับ 2.67
เพราะฉะนั้นมากกว่า 1 ตามสูตรด้านบน ก็แสดงว่า บก.มีอิสรภาพทางการเงินแล้วครับ ***หมายเหตุ ตัวจริงบก.ไม่ได้มีเงินขนาดนี้นะครับ แค่สมมติตัวเลข
✍ ขั้นตอนที่ 2 หลังจากเช็คฐานะการเงินตัวเองแล้ว (ถ้าหมีหนี้ก็รีบเคลียร์ซะ) ต่อมาเรามาเริ่มวางแผนสร้างความมั่งคั่งกันต่อเลย
โดย ขอแบ่งเป็น 5 อย่างที่ต้องทำ “กำหนดเป้าหมายชีวิต ,วางแผนการออมเงิน , วางแผนการใช้จ่าย และวางแผนหนี้สินครับ” ☑ ตัวอย่างการกำหนดเป้าหมายชีวิต เช่น บก.อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ใช้งบ 30,000 บาท ต้องการเก็บเงินในระยะเวลา 1 ปี เท่ากับว่า บก.ต้องเก็บเงินเดือนละ 2500 บาทครับ
☑ ตัวอย่างการวางแผนออมเงิน เช่น บก.จะแบ่งเป็น 2 บัญชีครับ บัญชีแรก คือ บัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน จะมีเงินเก็บสำรองประมาณ 6 เดือน คิดจาก “ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน x 6 = เงินสำรองฉุกเฉินที่ควรมีครับ ส่วนบัญชีที่ 2 คือบัญชีเก็บเงินเกษียณครับ
☑ ตัวอย่างการวางแผนการใช้จ่าย ข้อนี้ง่ายมากครับ บก.ทำรายรับรายจ่ายทุกเดือนครับ ☑ ตัวอย่างการวางแผนหนี้สิน บก.ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยครับ หนี้ที่ควรปิดก่อนเลย คือบัตรเครดิต พวกหนี้เสียทั้งหลาย ห้ามปล่อยคาราคาซังครับ จ่ายตรงเวลา เต็มจำนวนทุกงวดครับ
✍ ขั้นที่ 3 ปกป้องความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของตัวเราหน่อยครับ ด้วยการวางแผนประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ
ข้อนี้หลายๆ คนอาจจะมองข้าม แต่ถ้าลองได้ป่วยแล้วเข้ารพ.สักครั้ง จะรู้เลยครับว่าการมีประกันช่วย Cover ค่าใช้จ่ายมันดีกว่าการที่เราต้องนำเงินเก็บเราทั้งก้อนมาจ่าย รพ. แน่นอน ยกตัวอย่างเลยนะครับ ล่าสุด บก.ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ครับ นอนรพ.เอกชน 3 วัน ค่ารักษารวมค่าห้องแล้ว 24,000 ครับ (นี่รพ.เอกชนในต่างจังหวัดนะ) แต่ว่าโชคดีที่มีประกันสุขภาพครับ เลยรอดตัวไป จ่ายส่วนต่างแค่หลักร้อย
✍ ขั้นที่ 4 ต่อยอดเงินเราด้วยการลงทุนและวางแผนภาษีประหยัดเงินครับ
ตรงนี้จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าเราได้ หลังจากที่เราปกป้องความเสี่ยง อย่างการวางแผนการลงทุน นี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราต่อยอดเงินได้ไวนะครับ ยิ่งเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูง แต่ก็ต้องประเมินความเสี่ยงตัวเองด้วยนะครับ คาดหวังกำไร ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนครับ ส่วนวางแผนภาษีนั้น เรามีโปรดักซ์การเงินมากมายที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้ครับ กองทุนเพื่อเกษียณอย่าง RMF ประกันชีวิตต่างๆ ประกันสุขภาพ รวมถึงกองทุน SSF ที่กำลังจะมาในปีนี้อีกด้วยครับ
✍ ขั้นที่ 5 ขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนวางแผนส่งต่อมรดกให้ลูกหลานครับ
คนโสดก็ต้องคิดนะครับว่าไม่อยู่แล้วเงินของฉันแลทรัพย์สินทั้งหมดของฉันจะส่งต่อไปที่ไหน จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลายก็ได้นะครับ การบริจาคให้มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ผู้ที่มีน้อยหรือด้อยโอกาสกว่า และคราวจำเป็นเมื่อมีภัยพิบัติขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ไฟไหม้ น้ำท่วม ฯลฯ ก็เป็นหนึ่งในการวางแผนส่งต่อมรดกเหมือนกัน #รู้สึกเป็นคนดีเลยครับ
และนี่คือ 5 ขั้นตอนที่จะเป็นทางรอดของชนชั้นกลางอย่างเราๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจขาลงแบบนี้ครับ เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องยากเลยนะครับ เพียงแค่เปิดใจอยากจะเรียนรู้มัน หมั่นศึกษาเอาไว้ ส่วน aomMONEY ก็เองก็พร้อมที่จะนำเสนอและแชร์เรื่องราวความร้แบบนี้กับลูกเพจอยู่แล้วครับ
สุดท้ายหวังว่า ชนชั้นกลางอย่างเราๆ
จะฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้
Comments