top of page

10 กองทุนน่าสะสม สำหรับมนุษย์เงินเดือน



บทความนี้เป็นบทความที่มาอัพเดตกองทุนด้วยว่า มีกองทุนไหนที่น่าสนใจบ้าง และจากที่เคยแนะนำไปนั้น กองทุนต่าง ๆ ยังคงเป็นกองทุนที่น่าลงทุนอยู่หรือไม่  รวมถึง มีกองทุนอื่น ๆ กองทุนไหนบ้างที่เหมาะกับ พนักงานเงินเดือนอย่างพวกเรา !! คือ สามารถทยอยสะสมเพื่อลงทุนระยะยาวได้


แต่ก่อนจะไปถึง "กองทุนน่าสะสม"  เรามาดู "วิธีการซื้อกองทุน การเลือก รวมถึงขั้นตอนการลงทุนกับกองทุนรวมแบบง่ายๆ" กันนะครับ


1. ก่อนลงทุนนักลงทุนทั้งหลายก็ควรจะมีเงินเก็บประมาณ 3-6 เท่าของรายได้ต่อเดือน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเงินฉุกเฉินครับ เวลาเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อย ๆ ก็สามารถอยู่ได้อีก 3-6 เดือน โดยที่ไม่ต้องไปรบกวนเงินที่เรากำลังลงทุนอยู่นั่นเองครับ จากนั้นค่อยนำเงินทีเก็บได้ในแต่ละเดือนไปลงทุนกัน


2. เปิดบัญชีกองทุน ซึ่งอันนี้แล้วแต่สะดวกครับ แต่ผมแนะนำว่าให้เปิดบัญชีกับ ตัวแทนซื้อขาย หน่วยลงทุนจะดีกว่า เนื่องจากมีกองทุนให้เลือกค่อนข้างมาก และเดี่ยวนก็ซื้อขายได้สะดวกมากกว่าแต่ก่อนด้วยนะครับ 2.1 ซื้อที่ธนาคาร - ข้อดีคือ สะดวก ง่าย ไว เพราะอยุ่บริเวณใต้ตึกสำนักงานของบริษัท ฯ ต่าง ๆ แต่ ข้อเสียคือ มีกองทุนให้เลือกเฉพาะของ บลจ. ที่เป็นของธนาคารนั้น ๆ ถึงแม้ว่าหลัง ๆ ธนาคารทหารไทย จะเริ่มนำกองทุนของ บลจ. อื่น ๆ เข้ามามากขึ้นแต่ก็ยังคงไม่ครอบคลุมกับ บลจ. อื่น ๆ ครับ 2.2 ซื้อผ่าน บลจ. ผู้ออกกองทุน อันนี้ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันครับ แต่ก็ซื้อกองทุนได้จำกัด เช่นเดียวกับวิธีแรกครับ 2.3 ซื้อผ่าน บล. หรือ บลน. ที่เป็นนายหน้าซื้อขาย กองทุน ซึ่งค่อนข้างสะดวกพอสมควร เนื่องจากมีให้เลือกหลากหลาย แต่ข้อเสียคือ ถ้าซื้อกองทุนเยอะ ๆ แทนที่จะได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ จากธนาคาร หรือ บลจ. ก็จะไม่ได้ครับ

3. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะว่าถ้ามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วละก็ จะทำให้เราสามารถวัดผล หรือ ติดตามผล หรือ รู้ว่าจะต้องออม หรือ ลงทุนต่อเดือนเท่าไหร่กันแน่ครับ  อ่านเพิ่มเติมได้

4. จากนั้น ก็เลือกกองทุนกัน ลองอ่านตรงนี้ก่อนนะครับ จากนั้น ก็อ่าน Fund fact sheet เพื่อที่จะได้ทราบแนวคิดการลงทุนของกองทุนเบื้องต้น หาข้อมูลให้เยอะเข้าไว้ เวลาลงทุนแล้วจะได้ไม่ข้องใจ ถ้าหากมีความผันผวนเกิดขึ้นระหว่างลงทุน ส่วนกองทุนที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ก็หาผลตอบแทนของกองทุนแม่ หรือ master fund เพื่อที่จะได้ทราบรายละเอียดการลงทุนให้แน่ชัด โดยอาจจะสอบถามจาก บลจ. ที่เป็นผู้ออกกองทุนก็ได้ครับ


5. หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจ เช่น ผลตอบแทนย้อนหลัง ความเสี่ยง วิธีการจัดการกองทุน โดยอาจจะหาจาก Webboardต่าง ๆ  หรือ Website ที่เกี่ยวกับกองทุนรวม เช่น Morningstar, Siamchart, Thai Mutual Fund และ AIMC เพื่อหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ มากกว่ากองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเพียง 1 ปี ครับ


6. ดูค่าธรรมเนียมกองทุนที่เหมาะสม ถ้าละเลยและเลือกกองทุนที่ค่าธรรมเนียมการจัดการแพงมาละก็ เราไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นว่าค่าธรรมเนียมจะมีผลอะไร แต่ถ้าเป็นระยะยาวเราอาจะเสียเงินค่าธรรมเนียมเป็นหมื่น- แสนได้ ดังนั้นให้เลือกดูกองทุนที่มีค่าใช้จ่าย Total Expense ratio ต่ำ ๆ จะดีกว่านะครับ กองทุน Active ไม่ควรเกิน 2 % กองทุน Passive ไม่ควรเกิน 1 % แต่ก็ไม่ได้เป็นกฏที่ตายตัวนะครับ ผมแค่ประมาณคราว ๆ เท่านั้นเองครับ จากประสบการณ์ ขึ้นกับความพอใจด้วยครับ ถ้ากองทุนให้ผลตอบแทนสูงมาก ถึงจะแพงก็น่าซื้อครับ


7. ตรวจสอบด้วยนะครับว่า เป็นกองทุนเปิด หรือ กองทุนปิด – อย่าลืมดูว่าเป็นกองทุนประเภทที่ไม่ขายคือหน่วยลงทุนได้ก่อนเวลา หรือไม่ เพราะว่าถ้าเป็นกองทุนปิด อาจจะทำให้เราไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ก่อนเวลาที่กำหนดครับ ถ้าเกิดฉุกเฉินอาจจะนำเงินมาใช้ไม่ได้นั่นเองครับ ดังนั้นแบ่งเงินลงทุนให้ดี ๆ นะครับ และดูประเภทกองทุนด้วยครับ


7.1 Passive หรือ Active – เลือกที่ใช่ เลือกที่ชอบครับ

7.2 ปันผล VS ไม่ปันผล หรือ Auto redemption – เลือกที่ใช่ที่ชอบเช่นกันครับ


8. ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน หรือไม่ –  อันนี้ต้องระวังมาก ๆ ในการลงทุนกับกองทุนที่ไปลงทุนกับกองทุนต่าประเทศอีกที ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของเราพอสมควรเลยละครับ


9. ใช้เทคนิคเข้าช่วยเวลาซื้อกองทุน เทคนิคต่าง ๆ ได้แก่  DCA (ซื้อทุกเดือนเดือนละเท่า ๆ กัน) // DCA + TIMING (ซื้อทุกเดือนเดือนละเท่า ๆ กัน ถ้าเดือนไหนมูลค่าหน่วยกองทุนที่จะซื้อลงต่ำมากกว่าต้นทุนเราให้ซื้อเพิ่ม) // Lump sum (ลงเงินเป็นก้อน)


10. ติดตามผลการลงทุน และ ทำการ Rebalance พอร์ตให้ความเสี่ยงคงที่ และ เหมาะกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาครับ วิธีการอยู่ที่นี่ครับ

เมื่อเราได้วิธีดู และ เลือกกองทุนกันแบบคราว ๆ แล้วว่าเป็นอย่างไร


เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เรามาดูกันนะครับ ว่า "10 กองทุนน่าสะสม" มีอะไรบ้างครับ


1. ก่อนอื่นเลยถ้าไม่พูดถึงหรือ เอ่ยถึงคงไม่ได้ครับ กองทุนที่ผมจะพูดถึงก็คือ กองทุนหุ้น นั่นเองครับกองทุนที่ดูแล้ว เข้าตา และทำผลตอบแทนได้ดี และผมคิดว่าเป็นกองทุนที่น่าสนใจและจับตามองก็คือ

ABSM – กองทุนนี้เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนกับหุ้นขนาดเล็ก – กลาง ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคต โดยจะเลือกหุ้นที่ยังมีราคาไม่แพง หรือถูกกว่ามูลค่าพื้นฐาน โดยเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีด้วยวิธี Bottom up หรือ สไตล์ VI แท้ ๆ ซึ่งกองทุนนี้ก็ทำผลตอบแทนได้ดีในระยะยาวครับ

BTP – แน่นอนว่ากองทุนจาก บลจ บัวหลวงนี้เป็นที่น่าจับตามอง เป็นกองทุนที่เลือกหุ้นจำนวนไม่มาก ประมาณ 10-11 ตัว ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ เน้นการเติบโตได้ ถึงจะมีดูแล้วว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากเลือกหุ้นจำนวนน้อย แต่ทางบลจ. ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า หุ้นที่เลือกมาเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี ทำให้สร้างผลตอบแทนได้อย่างดีเยี่ยมครับ

T-Lowbeta เป็นกองทุนจาก บลจ.ธนชาต ที่ทำผลตอบแทนได้ดี สม่ำเสมอมาก ที่สำคัญคือความผันผวนต่ำมากครับ เนื่องจากเลือกหุ้นที่ดี และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ผูกขาด เช่น ผู้ให้บริการด้านพลังงาน ผู้ผลิตไฟฟ้า โรงพยาบาล ค้าปลีก ฯลฯ จึงทำให้กองทุนนี้ทำผลตอบแทนได้ดี ถึงแม้ว่าบางครั้งตลาดหุ้นไทยจะเป็นขาลงก็ตามที


2. ต่อมาเป็นกองทุนหุ้นปันผล

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงติดใจ หรือ ชอบกองทุน KFSDIV อยู่แน่ ๆ ใช่ไหมครับ แต่ในครั้งนี้ ผมคงต้องบอกว่า กองทุนนี้ในปัจจุบันอาจจะให้ผลตอบแทนที่น้อยลงไปพอสมควรครับ ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไปว่ากองทุนจะมีการปรับพอร์ตอย่างไรครับ ดังนั้น ผมแนะนำให้ว่าให้นักลงทุนลองพิจารณากองทุนอื่น ๆ ร่วมด้วยนะครับ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน คราวนี้ เรามาดูกันนะครับ ว่ามีกองทุนหุ้นปันผลตัวไหนที่น่าสนใจ

TEF DIV - ยังคงเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีครับ เน้นการซื้อขายทำกำไร ซึ่งก็อาจจะมีความผันผวนไปบ้าง

B-BASIC - เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต เช่น ยารักษาโรค อาหาร ที่อยู่อาศัยนั่นเองครับ โดยเลือกหุ้นที่ยังราคาไม่แพง และมีพื้นฐานดีครับ

KTSE - เป็นกองทุนที่เน้นการซื้อขาย ปรับพอร์ตไว แต่ผลตอบแทนก็คุ้มค่าความเสี่ยง

SCBSE - กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ค่อนข้างจะทำผลตอบแทนได้สม่ำเสมอครับ และความเสี่ยงก็ไม่ได้สูงมาก ผมว่าเป็นกองทุนที่น่าสนใจทีเดียว


3. Passive Fund อันนี้คงละเลยไม่ได้ครับ เนื่องกองทุนพวกนี้เป็นกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดี (ดีกว่ากองทุน active หลายตัวเลยทีเดียวครับ) แน่นอนว่าแนวคิดการลงทุนผ่านกองทุน passive fund ก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ เพราะว่าระยะยาว ๆ แล้วหากองทุนที่บริหารแบบ active แล้วชนะกองทุน passive ได้ยากมากครับ ที่สำคัญค่าธรรมเนียมถูกมาก ๆ เลย

KSET50 – เป็นกองทุนที่ค่าธรรมเนียมไม่แพงเลยครับ

TMBSET50 – เป็นกองทุนที่ขั้นต่ำถูกว่าคนอื่น ๆ มี 1000 บาทก็เริ่มลงทุนได้ครับ

SCBSET50 – เป็นกองทุนที่ดี(Tracking error น้อย) และค่าธรรมเนียมถูกมากครับ

1-AM Set50 – เป็นกองทุน Enhance fund (เป็นกองทุนที่เลือกหุ้นจาก SET 50 เพื่อพยายามเอาชนะดัชนีตลาด) ที่ทำผลตอบแทนได้ดีเช่นกันครับ แต่ค่าธรรมเนียมก็ไม่ได้สูงอย่างที่คิดครับ


4. ต่อมาเป็น กองทุนตราสารหนี้ ครับ ซึ่งผมบอกเลยว่าเราควรมีติดไว้ในพอร์ตการลงทุนของเราด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม หรือ เพื่อเก็บเงินไว้ในที่ปลอดภัยมากขึ้น หรือว่าบางคนที่มีเป้าหมาย การลงทุนไม่นาน รับความเสี่ยงได้ต่ำ รวมถึงต้องการความแน่นอนของผลตอบแทน หรือ ต้องการเก็บเงินและอยากได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากประจำ กองทุนเหล่านี้ตอบโจทย์มาก ๆ ครับ แต่ผู้ลงทุนเองก็ควรที่จะลงทุนอย่างน้อย ๆ ก็ต้อง 6 เดือนกับกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางเหล่านี้ นะครับ ซึ่งจะช่วยให้โอกาสขาดทุนน้อยลงมาก ๆ เลยครับ ซึ่ง กองทุนที่น่าสนใจคือ K-FIXED, KFSMUL,SCBFP และ TMBABF


5. ส่วน กองทุนตราสารหนี้ ระยะสั้น ก็มีหลายตัวครับ ความเสี่ยงลดลงมาหน่อยจากกองทุนตราสารหนี้ กองทุนที่น่าสนใจคือ KFSPLUS ,TMBMPLUS ซึ่งผมว่าค่อนข้างปลอดภัย และมีสภาพคล่องสูงอีกด้วยครับ


6. ส่วนกองทุนตลาดเงินที่ความเสี่ยงต่ำมาก เป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับเป็นหลุมหลบภัยชั้นดีเวลากองทุนหุ้น หรือ ตลาดหุ้นปรับตัวลงมา หรือ จะฝากเอาไว้กินดอกเบี้ยทุกวันก็น่าสนใจครับ ก็ได้แก่ P-CASH , T-CASH ซึ่งกองทุนทั้ง 2 กองทุนให้ผลตอบแทนที่ดี และมีความปลอดภัยมาก ๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมก็ไม่แพงด้วยครับ


7. คราวนี้เรามาดู กองทุน LTF กันบ้างครับ ซึ่งผมเคยเขียนเล่าถึง LTF กันไว้บ้างแล้ว

LTF ไม่ปันผล ABLTF // BLTF // CG -LTF// MS-CORE LTF // PLTF ซึ่งทั้ง 5 กองทุนนี้ก็ยังคงทำผลตอบแทนได้ดีทีเดียวครับLTF ปันผล PHATRA LTFD // VALUE-D LTF // MV-LTF ส่วนกองทุน LTF ปันผลนั้น ผมค่อนข้างที่จะชอบกองทุนของ PHATRA และ MFC อยู่พอสมควรเลยครับ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอครับ


8. กองทุน RMF ก็น่าสนใจไม่แพ้กันครับ จริง ๆ เป็นกองทุนที่ผมแนะนำว่าให้ซื้อกองทุนนี้ก่อน LTF ด้วยซ้ำครับ จะได้มีเงินเกษียณ และเป็นการสร้างวินัยให้กับตนเอง รวมถึงกองทุนก็ยังสามารถสับเปลี่ยนได้ ไปยังกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำลงเช่นกองทุนตราสารหนี้ได้อีกต่างหาก โดยไม่ผิดกฏการลดหย่อนภาษีอีกด้วย แต่ก็ต้องมีการจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมด้วยนะครับ ไม่ใช่ลงทุนแต่สินทรัพย์เสี่ยงเพียงอย่างเดียว

RMF หุ้น – BERMF, ABSC-RMFRMF ตราสารหนี้ – UOBGBRMF, KFLTGOVRMF ,KFIRMF RMF อสังหา ฯ - PHATRA-PROP, CIMB iPROP-RMF, T-PropertyRMF, LHTPROPRMF


9. กองทุนหุ้นต่างประเทศ

หลายท่านอาจจะงง ว่าทำไมผมถึงแนะนำให้ลงทุนกับกองทุนต่างประเทศด้วย เนื่องจากว่าการลงทุนกับกองทุนต่างประเทศจะเป็นการกระจายความเสี่ยงในระดับภูมิภาคครับ (หุ้นของประเทศไทยกับ ประเทศอื่น ๆ คงไม่ได้ปรับตัวลดลงพร้อมกันบ่อย ๆ ) ถ้าใครสนใจ ลองเข้าไปดูแนวทางการลงทุนในต่างประเทศ

ตัวอย่างกองทุน เช่น

ตลาดหุ้นของสหรัฐ ฯ ในระยะยาวก็ยังเป็นอะไรที่น่าสนใจครับ ส่งผลให้การลงทุนในสหรัฐยังคงน่าสะสมไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุน Passive Fund ที่ระยะยาวแล้วให้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร และการหากองทุน active fund ที่ทำผลตอบแทนได้ดีกว่านั้นก็ยากมากเลยครับ (ส่วนใหญ่จะแพ้ครับ) ข้อดีอีกประการคือ ค่าธรรมเนียมถูกมากครับ ตัวอย่างกองทุน ก็เช่น

US – ASP S&P500 // SCB S&P500 หรือ ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงหน่อย กองทุนที่ไปลงทุนกับ NASDAQ อย่าง K-USXNDQ ก็น่าสนใจไม่แพ้กันครับ เนื่องจากเทคโนโลยี ในอนาคตก็ยังคง เติบโตได้อีกมากครับ

หรือ แม้แต่กองทุนกลุ่ม Healthcare และ Silver age ที่จะเป็น Mega Trend ในอนาคต ผมว่าถ้าใครมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว ๆ ประมาณ 7 ปีขึ้นไป แล้วกองทุนในกลุ่มนี้ ก็น่าลงทุนเช่นกันครับ


10. กองทุนอสังหา ฯ แบบ Fund of Property Fund

ที่กองทุนอสังหาฯ น่าสนใจ เนื่องจากเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอมาก เพราะว่ารายได้นั้นมาจาก “ค่าเช่า” หรือ “รายได้” จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ครับ ไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร แต่การที่เราจะไปเลือกกองทุนอสังหา ฯ โดยตรง ก็ค่อนข้างจะยากมากครับ เนื่องจากต้องดูรายละเอียด ทำเล ผลตอบแทน อัตราการเช่า ฯลฯ ซึ่งผมแนะนำว่าให้ลงทุนกับกองทุนอสังหา ฯ แบบ Fund of Property Fund จะดีกว่า เพราะว่ามีผู้จัดการกองทุน มาเลือกกองทุนอสังหา ฯ ให้เราอีกทีครับ ถึงแม้ว่าจะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า ซึ่งผลตอบแทนก็ไม่ได้น้อยแต่อย่างใดครับ โดยกองทุนที่น่าสนใจก็ได้แก่ M-PROP Div, LHTHPROP, T-PROP ครับ

กองทุนเหล่านี้ล้วนเป็นกองทุนที่ผมคิดว่าเหมาะสมกับการสะสมนะ รวมถึงเน้นการลงทุนระยะยาว แต่ถ้าท่านไหนมีกองทุนดี ๆ ที่ผมอาจจะเผลอไม่ได้รวมเข้ามาด้วยแล้วละก็ แนะนำกันเข้ามาได้เลยนะครับ มาแบ่งปันความรู้กันครับ ^_^


สรุปสุดท้ายนี้ เหนือสิ่งอื่นใด คือ เราต้องค้นคว้าก่อนว่ากองทุนที่เราจะลงทุนไปนั้น ลงทุนกับสินทรัพย์แบบไหน มีอะไรบ้าง และเราเข้าใจสิ่งที่จะลงทุนมากน้อยแค่ไหน สามารถที่จะติดตามการลงทุนในกองทุนเหล่านี้ได้หรือไม่ อย่าลงทุนตามที่ผมแนะนำ อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่ผมเขียนมา แต่อยากให้นักลงทุน ได้ลองเปรียบเทียบ และศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนนะครับ


ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page