ปีนี้ดูเหมือนจะเป็นปีที่ยากลำบากจริง ๆ ไหนจะฝุ่น ไหนจะเรื่องไวรัสโคโรนา พี่ทุยจึงไม่แปลกใจสักนิดเลยที่จะเกิด “หน้ากากอนามัยเอฟเฟกต์” หรือ “ภาวะฟองสบู่” กับหน้ากากอนามัย ถ้าเป็นละครเวที ตอนนี้หน้ากากอนามัยคงกำลังไปยืนโลดแล่นอยู่กลางเวทีและมีแสงไฟสปอตไลท์ส่องมาจากทุกทิศทาง เพราะเรื่องราวของเค้ากำลังฮอตเหลือเกิน ทั้งเรื่องการขาดแคลนในหลายพื้นที่ จนหลายคนมีความคิดว่าส่วนนึงอาจจะเพราะมีผู้กักตุนสินค้าหรือเปล่า
ด้วยความต้องการมหาศาลนี้จึงส่งผลให้ราคาของหน้ากากอนามัยพุ่งขึ้นสูง การที่ราคาสูง ส่วนนึงอาจจะมีคนแอบขายเกินราคาจริง ๆ แต่ส่วนนึงก็เพราะต้นทุนมาแพงจริง ๆ เหมือนกันนะ ไม่ใช่เฉพาะผู้ซื้อที่ต้องซื้อของแพงขึ้นหลายเท่า แต่บางทีผู้ขายคนกลางเองก็โดนต้นทุนแพงขึ้นหลายเท่าด้วยเหมือนกัน (พี่ทุยแอบเห็นมาในกลุ่มขายส่งของพวกผู้แทนร้านยา เค้าขายส่งหน้ากากอนามัยธรรมดากันชิ้นละ 10-12 บาทเลยนะจ๊ะ จากที่ก่อนหน้านี้ทุนมาถูกกว่านี้หลายเท่า) ซึ่งบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเลย กับการที่ราคาของหรือสินค้าใดที่พุ่งกระโดดเพิ่มขึ้นในลักษณะนี้
ก่อนหน้าที่เราจะคุยกันต่อ พี่ทุยขอเกริ่นให้ฟังคร่าว ๆ เรื่องกลไกราคาที่ขับเคลื่อนสินค้าทุกประเภทก่อน คือราคาสินค้าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเนี่ยจะขยับขึ้นลงตามความต้องการซื้อ (demand) และความต้องการขาย (supply) ถ้ามีความต้องการมากหรือของนั้น ๆ มีความขาดแคลนมากก็จะส่งผลให้ราคาสูงลิ่ว อย่างหน้ากากอนามัยในตอนนี้ ในทางกลับกัน เมื่อมีสินค้านั้น ๆ มาหมายล้นหลามหรือไม่ค่อยมีความต้องการซื้อ สินค้านั้น ๆ ก็มีจะราคาถูกลง
บ่อยครั้ง ความต้องการซื้อก็มีมากเหลือเกินจนหลายคนหลงลืมเหตุผลและความเป็นจริง ถ้าเป็นหุ้นก็จะเป็นหุ้นปั่น ในลักษณะที่มีคนเติม offer เท่าไหร่ ก็มีคนยอมเคาะขวารัว ๆ กวาดซื้อไม่อั้น ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ การไล่ราคาจะเป็นต่อไปอย่างนี้ช่วงนึง และในที่สุดเมื่อผู้คนได้สติก็จะเริ่มคิดทบทวนว่า สินค้าที่เราซื้อมาด้วยราคาแพง ๆ นั้น เงินที่จ่ายไปคุ้มค่ากับมูลค่าหรือปัจจัยพื้นฐานของเค้าหรือเปล่า จากนั้นเมื่อตระหนักได้ว่าซื้อก้อนกรวดไปในราคาเท่าซื้อเพชรก็จะเกิดมหกรรมเทหรือพูดง่าย ๆ ว่าเกิด “ภาวะฟองสบู่” แตก ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ พี่ทุยขอเอากรณีเด่น ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนมาเล่าให้ฟังนะ
ฟองสบู่ดอกทิวลิป (the Dutch Tulip mania bubble)
อาจเรียกได้ว่านี่คือเหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งเเรกที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ เพราะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1636-1637 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในตอนนั้นเศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์ดี๊ดี คนรวยเต็มท้องถนนไปหมด และในทุกยุคทุกสมัย มนุษย์เราก็ล้วนเเล้วเเต่อยากมีเครื่องยืนยันฐานะของตัวเองทั้งนั้น สุดท้ายหวยก็มาออกที่ดอกทิวลิป ในตอนนั้นดอกทิวลิปเป็นดอกไม้หายาก ในเนเธอร์แลนด์หรือแม้เเต่ในยุโรปก็ไม่มี ผู้คนก็เลยนิยมกันเพราะสวยแปลกตา หายาก เมื่อนิยมกันมาก ดอกทิวลิปที่มีจำนวนจำกัดก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ สุดท้ายจึงมีการทำสัญญาซื้อขายหัวทิวลิปล่วงหน้า
ในตอนแรกหัวทิวลิปก็มีราคา 5-15 กิลเดอร์ หรือประมาณ 100-300 บาท (ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณเกือบ 20 บาทต่อ 1 กิลเดอร์) แต่ก็มีการเก็งกำไรจนราคาพุ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ กว่า 100 กิลเดอร์หรือประมาณ 2,000 บาท ลองนึกภาพดูกันนะว่า 2,000 บาทเมื่อเกือบ 400 ปีที่แล้วจะมีค่ามากมายขนาดไหน อิอิ
มีบันทึกว่าถึงขนาดมีคนเอาที่ดินเนื้อที่เกือบห้าหมื่นตารางเมตรมาแลกกับหัวทิวลิปแค่หัวเดียวเลยนะ แต่เเล้วไม่นานผู้คนก็เริ่มตาสว่างว่าสิ่งที่พวกเค้าบ้าคลั่งกันเนี่ย แท้จริงแล้ว มูลค่าพื้นฐานของมันคือดอกไม้แปลกตาเท่านั้น และราคาดอกทิวลิปก็ดิ่งลงเหวลดลงจากเกือบ 200 กิลเดอร์มาเหลือเพียงไม่ถึง 10 กิลเดอร์ในเวลาไม่ถึงเดือน
หลังจากฟองสบู่ดอกทิวลิปแตกดังโพล๊ะ เศรษฐกิจของเนเธอแลนด์ก็ซบเซาต่อเนื่องไปอีกหลายปี
ฟองสบู่ South Sea Bubble
บริษัท South Sea ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1711 หรือเมื่อประมาณ 300 กว่าปีก่อน ในช่วงนั้นรัฐบาลอังกฤษต้องการใช้เงินเยอะเพราะเป็นช่วงที่เกิดสงครามในยุโรป จึงต้องกู้หนี้ยืมสิน ก่อนหน้านั้นรัฐบาลก็กู้เอกชนทั่วไปอะแหละ และต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาดีลกับบริษัท South Sea แทน โดยกู้จาก South Sea แทนด้วยอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี แลกกับการที่บริษัทจะได้สัมปทานผูกขาดทำการค้าในแถบทะเลใต้ทั้งหมด ซึ่งธุรกิจของบริษัทนี้ก็คือการค้าฝ้าย รวมถึงการค้าทาส โดยมีผู้ถือหุ้นทุกระดับตั้งเเต่ชาวไร่ชาวนาไปจนถึงเชื้อพระวงศ์ ขนาดพระเจ้าจอร์จที่ 1 ที่เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษตอนนั้นก็ยังเอาด้วย หรือแม้เเต่เซอร์ไอแซค นิวตันผู้โด่งดังก็เป็นอีกคนที่ร่วมลงทุนหุ้นของบริษัทนี้ คงสร้างความรู้สึกขัด ๆ ให้กับหลายคนไม่น้อยเลย เมื่อรู้ว่า 300 กว่าปีที่เเล้ว การค้าทาสเป็นเรื่องเสรีและได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผย ขนาดราชวงศ์ยังเออออห่อหมกด้วยเลย! ในเวลานั้นหุ้นของบริษัท South Sea เป็นอะไรที่บูมมากและคงดูมั่นคงเหลือเกิน มีการเพิ่มทุนกี่ครั้ง คนก็แห่ไปซื้อกัน
ก็ในเมื่อมีราชวงศ์ถือหุ้น แถมยังทำธุรกิจผูกขาดอีก ยังมีอะไรที่ต้องกลัวอีกล่ะ? ราคาหุ้นจึงพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ แบบหุ้น Tesla ยังต้องอาย เพราะในปีเดียวราคาก็พุ่งขึ้นจาก 100 ปอนด์ต่อหุ้นเป็น 1,000 ปอนด์ต่อหุ้น
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในตอนนั้นหุ้นบริษัท South Sea คงจัดเป็นหุ้น “ของมันต้องมี”
แต่ลางร้ายก็เริ่มปรากฏเมื่อในปี 1720 เริ่มมีข่าวลือว่าธุรกิจของบริษัทไม่ได้กำไรดีขนาดนั้น จึงเกิดการเทขายหุ้นกันลงมาอย่างรุนเเรงจนสุดท้ายบริษัทก็ล้มละลายไปด้วยอายุเพียง 9 ปีเท่านั้น และหลังจากนั้นรัฐบาลอังกฤษก็ประกาศห้ามทำการซื้อขายหุ้นของทุกบริษัท หุ้นกลายเป็นของแสลง กลายเป็นของต้องห้ามของคนอังกฤษไปเลยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
คนดังที่เรารู้จักกันดีอย่างเซอร์ไอแซค นิวตันก็เจ็บตัวสาหัสไม่น้อย จากการทุนในหุ้น South sea ไป 22,000 ปอนด์ เค้าถึงขนาดสั่งห้ามไม่ให้คนพูดชื่อ South Sea ให้ได้ยินและกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนฟากฟ้าได้ แต่ไม่อาจคำนวนความบ้าคลั่งของฝูงชนได้”
จะเห็นได้ว่า ฟองสบู่แตกไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่เคยทำให้ผู้คนแตกตื่นมาตั้งเเต่หลายร้อยปีที่แล้ว เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเเค่ไหน สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือเรื่องอารมณ์ อย่างความโลภและความกลัวของมนุษย์ เรียกได้ว่าทั้งดอกทิวลิปและหุ้นของบริษัท South Sea ขึ้นเเรงขนาดไหน ถึงเวลาก็โดนเทลงเเรงขนาดนั้นหรือมากกว่านั้นเลย จำไว้ว่าอะไรก็ตามที่ราคาสูงเวอร์เกินมูลค่าพื้นฐานที่มีอาจถูกลากราคาขึ้นชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็เหมือนฟองสบู่ที่รอวันแตก ถ้าลุกช้า นอกจากจะต้องจ่ายรอบวงเเล้ว หน้าจะเปื้อนน้ำสบู่เวลาฟองแตกด้วยนะและเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่ก็คงจะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนานเพราะมันเล่นกับความโลภของมนุษย์นั้นเอง
Comentarios