top of page

"ทำอย่างไรดี?" เราอยู่ในยุคที่เงินเย็นไม่มีอยู่จริง


คำนี้เป็นคำที่ผมพูดกับรุ่นน้องคนหนึ่งที่เปิดร้านขายของอยู่ที่ตลาดนัดรถไฟรัชดา ปลายปีที่ผ่านมาช่วงไฮซีซั่นเชื่อไหมครับว่าเขาขายของได้วันละ 2-30,000 บาท เยอะกว่าเงินเดือนประจำของผมในแต่ละเดือนเสียอีก

แต่เพียง 3 เดือนของปี 2563 เขาแทบจะล้มพับไปจากพิษเศรษฐกิจที่มาจากมหันตภัยโควิด-19 เริ่มตั้งแต่นักท่องเที่ยวจีนหายไปมกราคม กุมภาพันธ์พอเริ่มระบาดในไทยคนก็เริ่มไม่เที่ยว และมีนาคมก็เหมือนฝีแตกรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้เลย

เขาโทรมาหาผมเพื่อฝากขายมอเตอร์ไซค์คลาสสิกคันหนึ่ง เพราะจำเป็นต้องเอาเงินไปหมุนจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และค่าเทอมของลูก เงินนี่มันแปลกเหมือนกัน เมื่อเราทำงาน เงินก็ทำงาน แต่พอเราหยุดงาน เงินก็ไม่ได้หยุดด้วย ดอกเบี้ยก็วิ่งทบต้นทบดอกทุกวัน ไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบ เงินที่คิดว่าเป็น "เงินเย็น” มีเก็บมีใช้มันมีจริงไหม

สมัยก่อนเรามักจะบอกว่า “มีน้อยใช้น้อย มีมากใช้มาก” ต่อไปเราอาจจะต้องสอนกันว่า “มีน้อยใช้น้อย มีมากให้เหลือเก็บยามฉุกเฉิน”น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น หากจำกรณีหลังในหลวง ร.9 สวรรคต กิจการบางอย่างถูกผลกระทบไปอย่างน้อยอีก 3 เดือน มันเหมือนกับการบอกว่าชีวิตเราที่ว่าแน่นอนมั่นคง และตรงไปตามจังหวะนั้นก็อาจจะเกิด “เรื่องไม่คาดฝัน” ขึ้นได้

"เงินเก็บ" จะเป็นเกราะป้องกันความล้มเหลวทางการเงินของคุณที่ดีที่สุดอันดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยจะเป็นไม้พยุงที่ทำให้คุณล้มได้ช้าลง  ส่วนหลักที่2 ที่ควรยึดไว้เมื่อยามมีเงินก็คือประกันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุและประกันชีวิต (ในยามนี้ก็ต้องเพิ่มประกันโควิด-19 เข้าไปด้วย) ประกันเป็นสิ่งที่เมื่อคุณมีเงินคุณจะไม่ค่อยคิดถึงมัน แต่เมื่อคุณไม่มีเงินและประสบปัญหา ก็ได้แต่พูดว่า “รู้งี้ ทำประกันไว้ตั้งแต่แรกดีกว่า”

สองสิ่งข้างต้นเป็นเสมือน "เงินเย็น” ในเชิงรับ แล้วในเชิงรุกล่ะเราควรทำอย่างไร สำหรับผมตอนนี้ที่น่าสนใจน่าจะเป็นสลากออมทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่สามารถถอนก่อนกำหนดได้อาจจะได้ดอกเบี้ยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ยังได้ลุ้นรางวัลในแต่ละงวด และยังให้ดอกเบี้ยที่ไม่ต่างจากเงินฝากออมทรัพย์มากนัก น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะหลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องเงินฝากทั่วไปก็ไม่น่าดึงดูดอีกต่อไป

สุดท้ายก็ต้องเป็นเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายด้วย เพราะต่อให้คุณเตรียมมาตรการพร้อมแค่ไหน พอถึงวิกฤตคุณปรับตัวไม่ได้ จมไม่ลง ยังใช้เงินมือเติบ เงินที่ว่าเย็นๆบางก็ก็ร้อนยังกะไฟก็เป็นได้เช่นเดียวกันครับ ขอฝากไว้ให้คิด

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page