ใครที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนใน “ตลาดหุ้น” คงจะมึนหัวไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มเข้ามาเมื่อช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ซึ่งช่วงนั้นเป็นตลาดกระทิง เวลาย่อตัวลงมาพักก็กลับขึ้นไปทุกครั้ง บรรยากาศของคนเล่นหุ้นดูชื่นมื่น มองไปทางไหนก็พอร์ตเขียวกันหมด แต่เเล้วหลังจากที่ SET ทำจุดสูงสุดซึ่งคือ All time high ไปที่ 1,852 จุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 “ตลาดหุ้น” ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องและเด้งขึ้นไปเป็นระยะ
รู้กันไหมว่า จากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 SET Index อยู่ที่ 1,852 จุด SET จนมาถึงตอนนี้เดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวลดมาเเล้วทั้งสิ้น 512 จุดหรือคิดเป็นเกือบ 28% (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563) แล้วถ้านับเฉพาะในปีนี้ SET Index ปรับตัวลงทั้งสิ้น 255 จุดหรือคิดเป็นประมาณ 16% แล้ว
เห็นแบบนี้เเล้วอย่าเพิ่งท้อ ไม่อยากลงทุนกันนะ ในทุกความมืดย่อมมีมุมที่แสงสว่างลอดเข้ามาถึงเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาเจอมั้ยเท่านั้นแหละ วันนี้พี่ทุยขอแนะนำวิธีการรับมือกับตลาดหุ้นขาลงอย่างการ “Short” และ “Put” เป็นวิธีการทำกำไรขาลงหรือการช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตได้เป็นอย่างดี
การ Short และ Put คืออะไร ?
หลักการซื้อขายหุ้นปกติโดยทั่วไปก็คือซื้อถูกขายแพงหรือแม้กระทั่งการซื้อแพงแล้ว แต่ไปขายแพงกว่า แต่การ “Short” หรือ “Put” ก็คือสิ่งตรงกันข้ามที่อยู่อีกขั้ว คือการที่เรามองว่าหุ้นตัวนี้ราคาน่าจะปรับตัวลง และเมื่อราคาปรับลงตามที่เราคาดการณ์ไว้ เราก็จะได้กำไรจากการปรับตัวลงของราคา
เช่น เราวิเคราะห์ว่าหุ้น Kbank จะปรับตัวลดลงอย่างแน่นอน จึงซื้อ “Short” หรือ “Put” ทำกำไรในทางลงมาตั้งเเต่หุ้น Kbank มีราคา 145 บาท เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หุ้น Kbank มีราคาปิดอยู่ที่ 119 บาท เราก็จะได้กำไรเป็นส่วนต่างของราคาที่ลดลง 26 บาทนี้ จะได้กำไรมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอนุพันธ์ที่ใช้ในการทำกำไร เช่น อัตราดอกเบี้ย ค่าเสื่อมเวลา อัตราทด
การ Short และ Put สามารถทำผ่านอะไรได้บ้าง ?
1. การชอร์ตหุ้น (Short Sell)
เราสามารถทำกำไรได้ โดยการยืมหุ้นของนักลงทุนคนอื่นมา “ขาย” ผ่านบริการ Securities Borrowing and Lending (SBL) หรือที่เราจะนิยมเรียกกันว่า Short Sell
ซึ่งถ้าใครจะทำ Short Sell เนี่ย จะต้องใช้งานบัญชีการลงทุนหลักทรัพย์ประเภท Margin หรือ Credit Balance เท่านั้น ง่าย ๆ ก็คือบัญชีที่ใช้เงินกู้เล่นได้ซึ่งแน่นอนว่าการกู้ยืมย่อมมีดอกเบี้ย แปลว่าเมื่อทำการ Short Sell ต้นทุนในการยืมหุ้นมาขายก็จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้ผู้ที่เราซื้อหุ้นมารวมถึงค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่ายให้ทางโบรกเกอร์
สำหรับคนที่ไม่ถนัดทำ Short Sell เอง แต่ก็มีหุ้นอยู่ในพอร์ตเหมือนกันสามารถเปิดให้นักลงทุนคนอื่นยืมหุ้นเราแทน ก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ยนั้นเอง
2. Derivative Warrant (DW)
DW เป็นที่นิยมในการใช้เก็งกำไรในตลาดขาลงมากที่สุดตัวหนึ่ง เพราะมีความสะดวกสูงที่สุด เพราะเราสามารถซื้อขายได้ในกระดานซื้อขายหุ้นปกติ ง่าย ๆ เลยนะ ใครที่มีบัญชีหุ้นอยู่แล้วก็สามารถซื้อได้ทันที ไม่ต้องเปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าให้วุ่นวาย แล้วข้อดีที่สุดของ DW ก็คือยังใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และมีโอกาสได้กำไรมาก จากการมีอัตราทด (Leverage) การทำกำไรในขาลงของ DW เราจะเรียกว่า PUT
พี่ทุยแนะนำว่าใครจะใช้ DW ทำกำไรช่วงขาลง ต้องศึกษาการดู “ตาราง” อัตราถด ค่าเสื่อมต่าง ๆ ด้วย เพราะถือว่าเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูง แน่นอนว่าช่วยทำกำไรได้เร็ว ก็ทำให้เราขาดทุนเร็วเช่นกัน
3. ตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (Future)
Future ถือว่าเป็น “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” ที่อยู่ในตลาดอนุพันธ์ ถ้าต้องการใช้ Future ทำกำไรเราจะต้องเปิด “บัญชีซื้อขายสัญญาล่วงหน้า” เพิ่มซึ่งจะเป็นบัญชีที่แยกจากบัญชีหุ้นปกติทั่วไปก่อน
การทำกำไรตลาดขาลงผ่าน Future สามารถทำได้หลายวิธีเพราะ Future มีหลากหลายประเภท เช่น Single Stock Future (SSF) หรือจะใช้ SET50 Future อย่างช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง
– Single Stock Future หรือ SSF โดยนักลงทุนที่ต้องการเล่นเก็งกำไรใน SSF หุ้นที่มี SSF จะจำกัดอยู่แค่เฉพาะหุ้นที่กิจการมีขนาดใหญ่เท่านั้น
การเล่น SSF จะต่างไปจากหุ้น ตรงที่เวลาเล่นหุ้น เราสามารถซื้อขั้นต่ำในกระดานปกติได้ 100 ตัว (สำหรับหุ้นที่ราคาเกินตัวละ 500 บาทซื้อขั้นต่ำที่ 50 ตัว) แต่การเล่น SSF เมื่อทำการซื้อขาย 1 ครั้ง จำนวนขั้นต่ำคือ 1 สัญญาซึ่งเท่ากับการซื้อหุ้น 1,000 ตัว
ปัญหาของ SSF ที่น่าหนักใจคือ การที่ไม่ค่อยมีสภาพคล่องในการซื้อขายเท่าไหร่สักเท่าไหร่ เมื่อไม่ค่อยมีคนมาซื้อขาย Bid-Offer จึงค่อนข้างจะถ่าง เช่น หุ้น AOT ณ ปัจจุบันมีราคา 60.00 บาท ในช่วงราคานี้ 1 ช่องจะเท่ากับ 0.25 สตางค์ ในกระดานหุ้นปกติ ราคา Bid-Offer จะมีช่วงห่างที่ 0.25 สตางค์เป็นปกติ แต่ SSF อาจจะกระโดดห่างเป็น 0.50 หรือ 0.75 สตางค์บ้างในบางช่วง ส่งผลให้ซื้อไม่ง่ายขายไม่คล่อง ทำให้คนไม่ค่อยนิยมสักเท่าไหร่
– SET50 FUTURE เป็นที่นิยมมากที่สุดเนื่องจากมีสภาพคล่องที่สูง มีให้เลือกเทรดหลายซีรี่ส์และหมดอายุตามเดือนต่าง ๆ ในปี โดยซีรี่ส์ H จะหมดอายุเดือนมีนาคม ซีรี่ส์ M จะหมดอายุเดือนมิถุนายน ซีรี่ส์ U จะหมดอายุเดือนกันยายน ซีรี่ส์ Z จะหมดอายุเดือนธันวาคม
พี่ทุยเตือนตรงนี้ไว้ก่อนว่าการใช้ Future นี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องศึกษาก่อนลงทุนหลายอย่าง เช่น หลักประกันขั้นต่ำ (Intial margin หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า IM) หลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin หรือเรียกสั้น ๆ ว่า MM) การโดนเรียกหลักประกันเพิ่มเติม (Margin Call) การโดนบังคับขาย (Force sell) ตรงนี้เดี๋ยวพี่ทุยอธิบายเพิ่มเติมให้อีกที
เปรียบเทียบวิธีต่าง ๆ ในการทำกำไรขาลง
แต่ขอย้ำก่อนว่า “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ” ก่อนที่จะเข้าลงทุนในผลิตภัณฑ์พวกนี้ ผู้ลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์และมีหลักการหรือระบบที่ใช้ในการตัดสินใจที่เหมาะสมนะ เพราะผลิตภัณฑ์พวกนี้มักจะมีอัตราทด (Leverage) การทำกำไรในตลาดขาลงก็เหมือนกับการทำกำไรในตลาดขาขึ้นนั่นแหละที่มีโอกาสจะขาดทุนได้มากเช่นเดียวกันถ้าออกมาผิดทางจากที่เราคาดการณ์ อาจจะหมดตัวหรือบางคนเป็นหนี้เลยก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่าผลตอบแทนสูงบ่อยครั้งจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงด้วย ถ้าจะทำกำไรขาลงห้ามลืมการบริหารความเสี่ยงได้ด้วยระบบที่ดีและการจัดการเงิน (Money Management) ที่เหมาะสมทุกครั้งนะ
Comments